สสส.ชื่นชมผลงานประกวด “ร้อง เล่น เต้น เพลงพี่หัวดี” ปลูกฝังเยาวชนใส่หมวกกันน็อค สำนึกถึงความปลอดภัยตั้งแต่วัยเด็ก

หมวดหมู่ เรื่องเด่น , โดย : admin , 26 มีนาคม 64 / อ่าน : 1,758


สสส.ชื่นชมผลงานประกวด “ร้อง เล่น เต้น เพลงพี่หัวดี” 

ปลูกฝังเยาวชนใส่หมวกกันน็อค สำนึกถึงความปลอดภัยตั้งแต่วัยเด็ก

 

 

          เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ร่วมงานประกาศผลการตัดสินการประกวดคลิปวิดีโอ “ร้อง เล่น เต้น เพลงพี่หัวดี” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิ​ราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จัดขึ้นภายใต้โครงการรณรงค์การป้องกันความพิการในเด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี ” โดยสมาคมสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์​ โดยการสนับสนุนจากโครงการสลากการกุศล “สภาสังคมสงเคราะห์ฯ ๕๕ ปี ใต้ร่มพระบารมี

            สำหรับการประกวดในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อใช้ในการรณรงค์ใส่หมวกกันน็อก และประชาสัมพันธ์ถึงความปลอดภัยของการสวมหมวกกันน็อก และต้องการรณรงค์ให้เด็ก เยาวชน พ่อ แม่ ผู้ปกครองและประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการสวมหมวกกันน็อก ซึ่งในการประกวดครั้งนี้มีการชิงถ้วยพระราชทานและรางวัลชนะเลิศ 100,000.- บาท ในงานมีผู้ร่วมแถลงข่าวดังนี้ พลตรีหญิง คุณหญิงอัสนีย์ เสาวภาพ xระธานสมาคมสภาสังคมสงเคราะห์ฯ ,คุณอารยา อรุณานนท์ชัย ประธานคณะกรรมการโครงการเผยแพร่การป้องกันความพิการ และการฟื้นฟูสมรรถภาพ, ประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดคลิปวิดีโอ “ร้อง เล่น เต้น เพลงพี่หัวดี” , นายแพทย์แท้จริง  ศิริพานิช อดีตกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ, คณะกรรมการตัดสินการประกวดคลิปวิดีโอ “ร้อง เล่น เต้น เพลงพี่หัวดี” ,นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.  

 

 

 

 

            โดยนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การป้องกันการบาดเจ็บและการพิการในเด็ก เป็นโจทย์ที่ท้าทาย การปรับทัศนคติและความเชื่อของผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงในการรับส่งเด็กไปโรงเรียน โดยเฉพาะการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งจากสถิติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ‘อุบัติเหตุทางถนน’ ถือเป็นสาเหตุของการ ‘เสียชีวิตก่อนวัยอันควร’ หากแยกตามวัย ผู้ใหญ่จะสวมหมวกนิรภัย (48%) มากกว่าวัยรุ่น (22%) และเด็ก (8%) อย่างมีนัยสำคัญ หากย้อนดูสาเหตุการเสียชีวิตของวัยรุ่นและเด็กจากอุบัติเหตุทางถนนว่าส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะ – 80% ไม่สวมหมวกกันน็อก การไม่สวมหมวกกันน็อกเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ โครงการนี้เราเน้นไปที่เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เพราะหวังให้เกิดการการปลูกฝังให้เด็กใส่หมวกกันน็อคตั้งแต่เด็ก เพราะที่ผ่านมาเราพบว่า การที่ผู้ปกครองไปส่งเด็กไปโรงเรียนเด็กจำนวนมากไม่ได้ใส่หมวกกันน็อค จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องใส่ใจ จะบอกเพียงแค่ว่า “แค่นี้เอง ใกล้ๆ “ ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเราพิสูจน์ได้แล้วว่าการสวมใส่หมวกกันน็อคนั้นจะช่วยลดการบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิต จากอุบัติเหตุ  นอกจากจะผ่อนหนักเป็นเบา ผ่อนเบาเป็นปลอดภัยได้

      

   

  

          “การสำนึกความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นเรื่องสำคัญที่ทาง สสส. และแผนงานฯ ได้รณรงค์และอยากจะเห็นคนไทยมีสำนึกถึงความปลอดภัยนี้ตั้งแต่วัยเด็ก การรณรงค์ให้ทางโรงเรียนผู้ปกครองเข้มงวด ใส่ใจดูแลคุณภาพชีวิตความปลอดภัยของเด็กให้มากขึ้นโดยเฉพาะผู้ปกครองที่เป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจ ส่วนทางโรงเรียนนั้นหากมีความเข้าใจและมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าหากไม่ใส่หมวกกันน็อกให้เด็กจะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่ปลอดภัย มีการทำข้อตกลง มีมาตราการร่วมกันระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครองชัดขึ้น คุณภาพชีวิตที่ดีก็จะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนได้ไม่ยาก เมื่อเด็กปลอดภัยจากภัยต่างๆ บนท้องถนนจะนำไปสู่การเป็น “เด็กหัวดี” มีอนาคตสดใส จากหมวกกันน็อค ก็จะขยับไปเรื่องเข็มขัดนิรภัย เรื่องของความเร็ว เรื่องเมาไม่ขับ หรือความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเกี่ยวกับการขับขี่บนท้องถนนหรืออื่นๆ ตามมา”  นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว     

    

           สำหรับการประกวดคลิปวีดีโอนี้ที่เริ่มทำในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี เพราะเราอยากเห็นความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งโรงเรียน พ่อ แม่ ผู้ปกครองด้วย ซึ่งหากทุกภาคส่วนมีความเข้าใจ มีส่วนร่วม และใส่ใจถึงมาตรการการใส่หมวกกันน็อคที่มีมาตรฐาน มอก. ให้เด็ก เด็กจะปลอดภัยได้อย่างแท้จริง ซึ่งในการประกวดนั้นมีการกำหนดความยาวอยู่ที่ 2 นาที โดยมีผลงานส่งเข้ามากว่า 175 ผลงาน มีเพียง 30 ผลงานที่ได้รับรางวัลจากการประกวด โดยโรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนอนุบาลบ้านคลองสระ จังหวัดสุราษฏร์ธานี ในคลิปที่ชื่อว่า “มาสิ พี่หัวดี จะพาแดนซ์” รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร , รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ โรงเรียนจอย จังหวัดสุราษฏร์ธานี ในคลิปที่ชื่อว่า “พี่หัวดีที่โรงเรียนจอย” รับเงินรางวัล 80,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ และเกียรติบัตร, รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ โรงเรียนคชเผือกอนุสรณ์ กรุงเทพมหานคร ในคลิปที่ชื่อว่า “คชเผือกฯ ปลอดภัย…ใส่พี่หัวดี” รับเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ และเกียรติบัตร โดยรางวัลชมเชยนั้นมี 27 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ส่วนรางวัล POPPULAR VOTE 1 รางวัล ได้แก่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีฯ จังหวัดลำปาง ในคลิปที่ชื่อว่า “น้องข้าวควบ&พี่หัวดี” รับเงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร

 

 

 

 

   

   

   

 

 

 

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]