สร้างนักสื่อสารสุขภาวะตอบโจทย์ท้องถิ่นภาคใต้ (คิดดีไอดอล)

หมวดหมู่ รายงานพิเศษ , โดย : admin , 1 มีนาคม 60 / อ่าน : 1,592


สร้างนักสื่อสารสุขภาวะตอบโจทย์ท้องถิ่นภาคใต้ (คิดดีไอดอล)
ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
 
   
สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น และสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะเด็กเยาวชน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เวลาหมดไปกับการเสพสื่อและเป็นผู้สื่อสารมากขึ้น แต่การรู้เท่าทันสื่อยังเป็นได้น้อยมาก

ด้วยเหตุนี้ ศูนย์สื่อสารเด็กไทยมุสลิมและกลุ่มละครมาหยา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดกิจกรรมเปิดเวทีวางรากฐาน พัฒนานักสื่อสารสร้างสรรค์ไอเดียสุขภาวะ (คิดดี ไอดอล) เปลี่ยนสังคม ด้วยพลังคนสื่อรุ่นใหม่ โดยมีเยาวชนจากสถาบันอุดมศึกษาใน ภาคใต้เข้าร่วมจำนวน 90 ทีม ซึ่งขณะนี้ได้คัดเลือกเหลือเพียง 20 ทีม จำนวน 60 คน และล่าสุดได้จัดกิจกรรมปฏิบัติการด้านทักษะและพัฒนาประเด็นเพื่อเสริมประสบการณ์ โดยให้เยาวชนได้นำเรื่องราวสถานการณ์ปัญหาในท้องถิ่นของตัวเองมาผลิตเป็นสื่อจริงและเผยแพร่ในชุมชน

นายฮาริส มาศชาย ผู้จัดการโครงการนักสื่อสารสร้างสรรค์ไอเดียสุขภาวะภาคใต้ กล่าวถึงวัตถุประสงค์กิจกรรมครั้งนี้ว่า เป็นการเตรียมความพร้อมในการสร้างคนรุ่นใหม่ให้เกิดเป็นนักสื่อสารสร้างสรรค์ที่มีความพร้อม และมีการเรียนรู้ปฏิบัติการทักษะและพัฒนาประเด็นในการสื่อสารสุขภาวะ ผ่านการผลิตสื่อสร้างสรรค์ทั้งหนังสั้น โฆษณาสั้น และสารคดี ในประเด็นปัจจัยเสี่ยง (เหล้า, บุหรี่, น้ำกระท่อม, มอระกู่) คุณแม่วัยใส และเท่าทันสื่อ จากวิทยากรที่มีความสามารถและให้คำแนะนำแก่น้องๆ จนสามารถต่อ ยอดไอเดียให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมผนวกเอาความเป็นเอกลักษณ์ถิ่นใต้ผสมผสานให้มีเสน่ห์ และสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายของปัญหาในพื้นที่ชุมชนได้ตรงเป้าหมาย พร้อมทั้งขยายผลของสื่อดังกล่าวนี้ผ่านช่องทางออนไลน์ให้สังคมได้รับทราบในวงกว้างในโอกาสต่อไป

ผศ.ดร.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.มอ.) กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ทางทีมงานได้นำข้อมูลเวทีงานเสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศ ไทยให้น่าอยู่ ความมั่นคงทางสุขภาวะวาระสร้างสุขภาคใต้ที่ผ่านมา โดยการสนับสนุนจาก สสส. นำมาขับเคลื่อนต่อในมิติการใช้การสร้างสรรค์ผ่านสื่อสุขภาวะ โดยเยาวชนรุ่นใหม่ของภาคใต้ได้ช่วยกันคิดสร้างสรรค์สื่อ โดยมองจากปัญหาสภาพจริงในพื้นที่ และนำไปปฏิบัติพร้อมสื่อสารในพื้นที่ปฏิบัติการชุมชนจริงจนเกิดความเปลี่ยนแปลง

"การอบรมดังกล่าวยังได้สร้างคนรุ่นใหม่ไปพร้อมกับการทำหน้าที่ของ "พลเมืองที่ดี" ตระหนักรู้ รับรู้ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เรียกว่า 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี เพื่อให้เกิดเป็น "นักสื่อสารสร้างสรรค์สุขภาวะ" (Creative Communication for Health) ของภาคใต้ต่อไป" ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการระบบสุขภาพกล่าว

ผศ.อุษณีย์ ศิริสุนทรไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต  ได้ให้แนวคิดถึงนักสื่อสารสร้างสรรค์ในแบบฉบับเด็กใต้ว่า นักสื่อสารสร้างสรรค์ในแบบฉบับเด็กใต้ ควรจะมีแนว คิดในการนำเอาเรื่องราวปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ หรือพื้นที่ตนเอง มาหยิบเป็นประเด็นในการนำเสนอเล่าเรื่อง เพื่อให้เกิดพลังจากสื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลง ให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมสามารถขับเคลื่อนในมิติสังคมควบคู่ไปด้วย

นายปิยะพัทย์ รักนุกูล กลุ่มแสงใต้ นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้กล่าวว่า รู้สึกยินดีมากที่ได้รับการคัดเลือกให้ผลิตสื่อ และสามารถถ่ายทอดปัญหาต่างๆ ผ่านสื่อที่ตัวเองผลิต นอกจากสามารถแก้ปัญหาสังคมในชุมชนแล้ว ตนยังรู้จักภูมิปัญญาของท้องถิ่น โดยเฉพาะเพลงพื้นบ้านที่กำลังจะหายสาบสูญ และสามารถปลุกเพลงเหล่านี้ให้เพื่อนและคนรุ่นเดียวได้รู้จัก พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมและอนุรักษ์ให้อยู่คู่กับชุมชนต่อไป

นางสาวฤทัยรัตน์ ด้วงมาก กลุ่ม Up2U นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา ได้พูดถึงแนวความคิดของนักสื่อสารสร้างสรรค์สุขภาวะภาคใต้ว่า การเป็นนักสื่อสารที่ดีต้องเข้าใจในตัวสารหรือเนื้อหาสารก่อนที่จะสื่อสาร รวมทั้งต้องมีความเข้าใจไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสารด้วย

ทีมของตัวเองได้เลือกปัญหาบุหรี่มือสามเป็นเรื่องราวในการนำเสนอผ่านหนังสั้น และได้เลือกพื้นที่โรงเรียนที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่สะท้อนปัญหา โดยนำเสนอผ่านผู้ปกครองและนักเรียน ให้ทราบถึงผลกระทบของบุหรี่ที่ไม่ได้สร้างปัญหาแก่ตัวผู้เสพเท่านั้น โดยบุหรี่มือสามยังสร้างผลกระทบคือ สารพิษจากควันบุหรี่ที่ตกค้างไว้หลังจากบุหรี่ได้ดับแล้ว โดยสารพิษดังกล่าวจะตกค้างตามพื้นผิวต่างๆ เช่น ผ้าม่าน เสื้อผ้า พรม โซฟา ที่นอน โดยเฉพาะห้องปิดไม่ถ่ายเทอากาศเป็นเวลาหลายวัน ที่จะสร้างอันตรายให้ผู้ที่จะเข้าไปสัมผัส

นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ตนอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของพลังเยาวชน ถ่ายทอดผ่านการสร้างสื่อเพื่อสุขภาวะที่มีคุณภาพ และสามารถทำให้เกิดการปรับมุมมอง สามารถเป็นแรงบันดาลใจสู่คนในสังคมและชุมชน และสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเองได้ทันทีโดยไม่ต้องรอบุคคลภายนอก         

เชื่อว่ากิจกรรมนี้จะสร้างนักสื่อสารสุขภาวะที่มีคุณภาพ และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในชุมชนและสังคมได้แบบองค์รวม จนเกิดเป็นความยั่งยืน.
 
   
 
 
 
 
   


ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]