โครงการสื่อศิลป์สามดี ใส่ใจสื่อเดิม สร้างเสริมสื่อดี ต้นทุนภูมิปัญญาผ้าทอทำให้เกิดแรงผลักดันพัฒนาและสานต่อ

หมวดหมู่ อีสาน , โดย : admin , 20 มิถุนายน 61 / อ่าน : 2,585


โครงการ สื่อศิลป์สามดี ใส่ใจสื่อเดิม  สร้างเสริมสื่อดี 

โดย สมชัย คำเพราะ / เครือข่ายคนดาว

 

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท  

ห่างจากตัวอำเภอบ้านผือ ห่างไปทางทิศตะวันตก ราว  ๑๕ กิโลเมตร  เป็นที่ตั้งของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท  ซึ่งอยู่ในบริเวณเทือกเขาภูพานตะวันตก ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าเขือน้ำ”

            ที่นี่ปรากฏร่องรอยแหล่งอารยธรรมมนุษย์ สมัย ๓,๐๐๐-๒,๕๐๐ ปี ก่อนประวัติศาสตร์  ให้เห็นภาพเขียนสีแดง สีขาว เป็นภาพคน สัตว์  กิจกรรมการล่าสัตว์ เพาะปลูก หรือภาพพิธีกรรมบางอย่าง อยู่บนเพิงผาหิน ในสมัยที่มนุษย์ตั้งถิ่นฐานรวมกันเป็นหมู่บ้าน ในที่ราบลุ่ม ใกล้แหล่งน้ำ รู้จักการเพาะปลูกพืช (ปลูกข้าว) เลี้ยงสัตว์ และรู้จักการทำเครื่องมือเครื่องใช้จากโลหะ  

ที่นี่ปรากฏร่องรอยการปักใบเสมาหิน แบบเรียบไม่มีลวดลาย  ทรงกลีบบัว และทรงกระโจม  ซึ่งเป็นอัตลักษณ์เฉพาะ ของวัฒนธรรมทวารวดี  เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๖   ในภาคอีสานของไทย   ใช้ปักกำหนดขอบเขตของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา  ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ชุมชนบริเวณรอบๆภูพระบาท  มีการรับนับถือพุทธศาสนาแล้ว

ที่นี่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี  ภาพแกะสลักหิน พระพุทธรูปแบบมหายาน  บนถ้ำพระ วัดพ่อตา และวัดลูกเขย  ซึ่งเป็นหลักฐานในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างปลายสมัยทวารวดี ถึงสมัยละโว้หรือลพบุรี เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗– ๑๙   เนื่องจากยังคงรูปเเบบศิลปะสมัยทวารวดีอยู่ในสถานที่เดียวกัน

ที่นี่ปรากฏพระพุทธรูป  รอยพระพุทธบาท  และการสร้างธาตุ(เจดีย์) ครอบรอยพระพุทธบาท  สมัยอาณาจักรลาวล้านช้าง  เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๑– ๒๓  หรือเมื่อปี พ.ศ. 1896–2250   

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึง “เมืองพาน” ในตำนาน อุสา-บารส  และตำนานอุรังคธาตุหรือพระธาตุพนม  ซึ่งเป็นวรรณกรรมสำคัญของผู้คนทั้งสองฝั่งโขง  ที่แต่งขึ้นในสมัยล้านช้าง  ทำให้มีการเรียกโบราณสถานต่างๆบนภูพระบาท  ให้สอดคล้องกับสถานที่ในตำนาน

อันเป็นประจักษ์พยานเพียงหนึ่งเดียว  ของอารยธรรมแห่งมนุษยชาติ  ที่ดำรงอยู่อย่างสง่างาม  มาตราบเท่าทุกวันนี้

 

กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนบ้านผือ                 

เมื่อประมาณ ๑๑๒ ปี หรือราว พ.ศ. ๒๔๔๙  กลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนบ้านผือ  ได้เคลื่อนย้ายมาจากแขวงเวียงจันทน์   แขวงเชียงขวาง   เพื่อหนีภัยสงครามจากพวกจีนฮ่อที่เข้ามายึดบ้านเมือง  โดยเริ่มก่อตั้งบ้านเรือนมีชื่อว่า บ้านผือ นำโดยขุนจางวาง  หมื่นราช  หมื่นรัตนเวช เป็นผู้นำ   และมีชาวไทยพวนที่มาพร้อมกัน ส่วนหนึ่งได้เคลื่อนย้ายลงไปตั้งถิ่นฐานอยู่อำเภอบ้านหมี่  จังหวัดลพบุรี

            เนื่องจากพื้นที่บ้านผือ   ซึ่งเป็นที่ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ในบริเวณพื้นที่ราบริมขอบภูเขาล้อมรอบบริเวณแหล่งอารยธรรมภูพระบาท  อุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำ ลำห้วยเหมือง  ลำห้วยเสียง และลำห้วยน้ำนาคู ล้อมรอบ   และทำนาปลูกข้าว  ทำไร่  ทอผ้า  พูดภาษาตระกูลไท-ลาว  นับถือพุทธศาสนา และมีขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ตาม “ฮีต ๑๒ คอง ๑๔” สืบมาจนปัจจุบัน     

จึงไม่เป็นการยากที่จะมีการปรับตัวให้ดินแดน  ภูมิทัศน์วัฒนธรรมภูพระบาท เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวไทยพวนบ้านผือ เช่นที่เป็นมานับแต่อดีตกาลอีกด้วยเช่นกัน

 

วิถีวัฒนธรรมผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนบ้านผือ 

จุดเด่น

กล่าวโดยเฉพาะวิถีวัฒนธรรมผ้าทอของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนบ้านผือ ไม่ว่าจะเป็นกรรมวิธีการผลิต การออกแบบลวดลาย  การมัดหมี่ การควบเส้นด้าย  การขิด การจก และการย้อมสีสันจากวัสดุธรรมชาติที่โดดเด่นสะดุดตา คงความประณีตละเอียดงดงาม 

ล้วนแฝงด้วยคติความเชื่อ ในขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี  และวัฒนธรรม ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น  อันเป็นการสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ให้สูญหายไป

ซึ่งภูมิปัญญาการผลิตผ้าทอดั้งเดิม ประกอบด้วย ลายผ้าฝ้ายสีขาว สีน้ำเงินเข้ม หรือสีดำ  และลายผ้ามัดหมี่ลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายต้นสน ลายดอกพิกุล ลายสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด  และลายผ้าชายผ้าถุงหรือตีนซิ่น เรียกว่า “ตำแนะ”  อีกทั้งผ้าขาวม้าหรือเรียกว่า ผ้าแพรอีโป้  ซึ่งแต่เดิมนิยมทำเป็นลายผ้าสีขาวดำรูปตารางสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ 

จากต้นทุนทางภูมิปัญญาผ้าทอ   ทำให้เกิดแรงผลักดัน  นำผลิตภัณฑ์ลวดลายผ้าทอมือจากเดิม มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่หรือสื่อสร้างสรรค์ใหม่ ต่อยอดผลงานให้โดดเด่น เน้นลวดลายผ้าทอมือ  ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ  และวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่เป็นอัตลักษณ์   โดยการออกแบบลายผ้า  ที่มีต้นแบบจากแหล่งภูมิทัศน์วัฒนธรรมภูพระบาท  ประยุกต์ให้เป็นลวดลายผ้าทอของชาวไทยพวนบ้านผือ  ได้แก่  ลายผ้าเจดีย์ภูพระบาท ลายผ้าหอนางอุษา ลายผ้าคนแดง  ลายผ้าต้นผือ  ลายผ้าต้นข้าว ลายผ้าสายฝน  และลายผ้าขาวม้า ๙ สี เป็นต้น                  

จุดอ่อน                                                             

            แต่ในปัจจุบัน ยังขาดการเรียนรู้  พฤติกรรม ทัศนคติ  ค่านิยม ความเชื่อ แรงบันดาลใจ โอกาส การเรียนรู้  การตระหนักรู้  การพัฒนาทักษะ ศักยภาพ การสืบทอดต่อยอด ขาดความเชื่อมโยงระหว่าง พื้นที่เดิมที่ดี สื่อเดิมที่ดี และภูมิปัญญาเดิมที่ดี ที่ปรากฏอยู่ใน “ภูมิทัศน์-วัฒนธรรม” ภูพระบาท และที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์วัฒนธรรมผ้าทอไทยพวนบ้านผือ มาผลิตเป็นสื่อวิดิทัศน์ บอกเล่าประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เรื่องราวดี ๆ ของชุมชน

            ประกอบกับขาดความเชื่อมั่น ขาดความภาคภูมิใจ  ไม่เห็นคุณค่าในความดี ความงาม ความจริง ที่เป็นมรดกทางภูมิปัญญาผ้าทอมือ   ทั้งในกระบวนการผลิต  และขาดการเรียนรู้การแปรรูป  การออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ และขาดการช่องทางการประชาสัมพันธ์มรดกผ้าทอไทยพวน  หรือการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าทอในเชิงพาณิชย์ และขาดช่องทางการสื่อสารให้เป็นที่รับรู้รับทราบของคนทั่วไปในสังคม     

            และขาดความเชื่อมโยง ของภาคีเครือข่ายในท้องถิ่น  ในการนำสื่อศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ปรากฏอยู่ในภูมิทัศน์วัฒนธรรมภูพระบาท  มาสู่การการพัฒนาแนวคิด  แรงกระตุ้น แรงบันดาลใจ ให้เกิดผลิตภัณฑ์ผ้าทอ การออกแบบลายผ้า หรือชุดสวมใส่ในโอกาสต่างๆ  ขาดการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐ  เอกชน ในการเผยแพร่  และจัดจำหน่าย   จัดแสดงผลงานให้เป็นที่รู้จัก ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ

 ภาวะวิกฤต

 ผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทยพวนบ้านผือ กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต   และเสี่ยงต่อการสูญหาย   เพราะขาดการส่งต่อ สืบทอด ต่อยอด องค์ความรู้การทอผ้า ไปยังเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชน   จนนำไปสู่การละทิ้งภูมิปัญญาการทอผ้าของชุมชนไปในที่สุด  และผ้าทอดั้งเดิมที่มีอยู่  ก็ไม่เป็นที่นิยมของคนทั่วไป อีกทั้งมีวิทยาการผ้าทอสมัยใหม่ เริ่มคืบคลานเข้ามาเข้ามาจำหน่าย แทนที่ผลิตภัณฑ์ผ้าทอแบบดั้งเดิม 

 

โอกาส

กลุ่มชมรมไทยพวนบ้านผือ  ได้มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ  ร่วมสร้างคุณค่า  สร้างมูลค่า  ด้วยการนำมรดกทางภูมิปัญญาผ้าทอ โดยมีครูภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน  ได้ทอผ้าและแปรรูปผลิตภัณฑ์ “พวนกะเลอ” ออกจำหน่าย  มีการพัฒนาคุณภาพลายผ้า  โดยมัดย้อมจากธรรมชาติไร้สารเคมี ปลอดภัยสำหรับคนสวมใส่  

และมีการส่งผลิตภัณฑ์ผ้าทอมัดหมี่ ลายตำนานภูพระบาท  เข้าร่วมแข่งขันจนได้รับรางวัลระดับดีมาก ในโครงการ “ชุมชนต้นแบบ สืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประจำปี ๒๕๕๙” ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม  กระทรวงวัฒนธรรม และเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๐  ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ลาย ตำนานภูพระบาท ได้รับรางวัลอันดับหนึ่งในระดับประเทศ  และได้รับคัดเลือกเป็นชุมชนต้นแบบโครงการ“ภูมิปัญญาล้ำค่า สู่ลายผ้าไทยพวนบ้านผือ”

 ประกอบกับ พื้นที่โบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลก  เพื่อประเมินคัดเลือกสถานที่ มีความสำคัญทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ  เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภท “ภูมิทัศน์-วัฒนธรรม” แห่งแรกของประเทศไทย  อีกทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ไทยพวนบ้านผือ  ได้มีส่วนร่วมจัดงานประจำปี “ไทยพวน ชวนเที่ยวภูพระบาท” ในการประชาสัมพันธ์ให้เป็นมรดกโลกอีกด้วย          

                        

             

      

สิ่งที่อยากเห็นร่วมกัน

ปราชญ์ชาวบ้าน ครูพี่เลี้ยง แกนนำเด็กเยาวชน และเด็กเยาวชน เกิดแหล่งเรียนรู้ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์  วัฒนธรรมชุมชน  และส่งต่อองค์ความรู้/ จัดทำหลักสูตร  ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว  และเกิดพื้นที่ทางความคิด โดยมีการพบปะอย่างสม่ำเสมอ และสร้างข้อตกลงร่วมกัน  

เกิดการรวมกลุ่มของเด็กเยาวชนเพื่อการสร้างสรรค์สื่อ เช่น บทเพลง หมอลำ ดนตรี  ผลิตเป็นสื่อวิดิทัศน์ หรือสื่อหนังสือเล่ม 

มีส่วนร่วมในการผลิตเป็นสื่อวิดิทัศน์  หรือสื่อออนไลน์  ผลงานเด็กเยาวชน  บอกเล่าเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในภูมิทัศน์วัฒนธรรมภูพระบาท  คติความเชื่อที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมพื้นบ้าน “อุสา-บารส”  ในวิถีวัฒนธรรมผ้าทอไทยพวนบ้านผือ

ถ่ายทอดชุดความรู้บอกเล่าความดี ความงาม ความจริง ผ่านสื่อเดิมหรือสื่อพื้นบ้าน  และส่งต่อไปสู่สื่อใหม่ และนำไปเผยแพร่ในพื้นที่ชุมชนและในสื่อออนไลน์ต่างๆ  

นำองค์ความรู้ มาออกแบบลวดลาย มัดย้อม ทอผ้า แปรรูปผลิตภัณฑ์  ร่วมจัดนิทรรศการเผยแพร่ผลงานผลิตภัณฑ์ผ้า และหาช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าเป็นวิสาหกิจชุมชน 

เกิดกลุ่มภาคีเครือข่ายของปราชญ์ชาวบ้าน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำกิจกรรม ค้นหารากเหง้าของตนเอง เพื่อพัฒนาเป็นสื่อใหม่  สร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน  องค์กรภาครัฐ เอกชน ที่สื่อสารถึงกันได้มากขึ้น

ถอดบทเรียนองค์ความรู้ ที่ปรากฏอยู่ในภูมิทัศน์วัฒนธรรมภูพระบาท วรรณกรรมพื้นบ้าน อุสา-บารส  ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์  ส่งต่อภูมิปัญญาวัฒนธรรมการทอผ้า เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทยพวน  ซึ่งเป็นสื่อดีหรือสื่อร่วมสมัยผลงานเด็กเยาวชน

ปราชญ์ชาวบ้าน ครูพี่เลี้ยง แกนนำเด็กเยาวชน และเด็กเยาวชน  เกิดความตระหนักรู้เท่าทันสื่อ ในการคิด วิเคราะห์ เข้าใจ ประเมินค่า และประยุกต์ใช้ สื่อในทางสร้างสรรค์  สามารถนำสื่อที่ผลิตขึ้นมาสื่อสารและสร้างความมือในกลุ่มและชุมชนได้  มีความเป็นผู้นำ  มีจิตอาสา  มีความเสียสละ  มีความรู้เท่าทันตนและสะท้อนความคิด รู้จักตนเอง มีความคิด วิเคราะห์ และเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีทักษะการจัดการ มีความเข้าใจในความแตกต่าง  และใช้สื่อเพื่อการเปลี่ยนแปลงตนเองและชุมชนในโอกาสต่อไป

 



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]