รู้จัก "วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมย่านบางลำพู" กรุงเทพมหานคร

หมวดหมู่ สื่อศิลป์ SE - Social Enterprise , โดย : admin , 17 มกราคม 63 / อ่าน : 2,277


 

        แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. จะพาไปรู้จักกับ “ชุมชนย่านบางลำพู” เขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานคร หนึ่งในพื้นที่ภาคกลางที่เข้าร่วมโครงการการพัฒนาต้นแบบวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม (Social Enterprise) 4 ภูมิภาค ปี 2562

 

ลักษณะพื้นที่ของชุมชนย่านบางลำพู กทม.  

        ชุมชนบางลำพูอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ในเกาะรัตนโกสินทร์ มีความหลากหลายทางชุมชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีเรื่องราวทางวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่น่าสนใจ มีชาติพันธุ์ที่หลากหลาย สภาพเดิมย่านบางลำพูเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและย่านการค้าที่สำคัญ มีตลาดที่มีชื่อเสียงและแหล่งศิลปวัฒนธรรม เพราะบริเวณนี้เป็นที่ตั้งเขตพระราชฐาน และวังของพระบรมวงศ์หลายพระองค์ ซึ่งเขตพระนครมีทั้งหมด 20 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนท่าวัง ชุมชนท่าเตียน ชุมชนเขียนนิวาสน์-ตรอกไก่แจ้ ชุมชนมัสยิดจักรพงษ์ ชุมชนวัดสามพระยา ชุมชนนรนาถ ชุมชนวัดสังเวชวิศยาราม ชุมชนตรอกบ้านพานถม ชุมชนวัดใหม่อมตรส ชุมชนมัสยิดบ้านตึกดิน ชุมชนหลังวัดราชนัดดา ชุมชนบวรรังสี ชุมชนวัดเทพธิดาราม ชุมชนวังกรมสมมตอมรพันธุ์ ชุมชนวัดอินทรวิหาร ชุมชนตรอกศิลป์-ตรอกตึกดิน ชุมชนโบสถ์พราหมณ์ ชุมชนเฟื่องทองรอกวิสูตร ชุมชนราชพิธพัฒนา และชุมชนแพร่งภูธร ในส่วนของย่านบางลำพูเป็นพื้นที่ทำงานหลัก ดำเนินการภายใน 7 ชุมชน และมี 3 พื้นที่สร้างสรรค์ได้แก่ พิพิธบางลำพู ถนนข้าวสาร และสวนสันติชัยปราการ เป็นพื้นที่จัดกิจกรรม

 

จุดแข็งด้านพื้นที่ของชุมชนย่านบางลำพู กทม. 

        จุดเด่นของชุมชนย่านบางลำพูที่สำคัญ คือ การมีตัวตนของคนที่ทำงานในชุมชน เช่น ประชาคมบางลำพู ชมรมเกสรบางลำพู และไกด์เด็กบางลำพู นอกจากนี้ยังมีผู้ใหญ่ที่ให้การสนับสนุนด้านกิจกรรมและข้อมูลด้านชุมชนจำนวน 20 ชุมชนในเขตพระนคร และการร่วมกันทำจิตอาสาในชุมชนที่มีแนวทางการทำงานแตกต่างกันแต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการพัฒนาชุมชนย่านบางลำพู เด็กและเยาวชนในพื้นที่ส่วนใหญ่สามารถทำงานได้หลากหลายในฐานะผู้ผลิตสื่อและเป็นไกด์ประจำชุมชน มีพิพิธบางลำพูเป็นพื้นที่ประชุมเพื่อจัดการกิจกรรมต่าง ๆ และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ การให้ความสำคัญกับสื่อออฟไลน์ประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือเสน่ห์บางลำพู นิทานบางลำพู และแผนที่ชุมชน การมีทุนทางสังคม วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม เทศกาลต่าง ๆ พร้อมด้วยความสัมพันธ์อันดีของคนในพื้นที่ชุมชนย่านบางลำพู



 

จุดแข็งด้านผลิตภัณฑ์ของชุมชนย่านบางลำพู กทม. 

        ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของบางลำพูหรือของที่ระลึกบางลำพู คือ พวงกุญแจ แม็กเน็ต (Magnet) กระเป๋า สมุด และเข็มกลัด ซึ่งทั้งหมดผ่านการออกแบบจากฝีมือของเด็กและเยาวชนในชุมชน บางลำพูยังมีกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มชมรมผู้สูงอายุ คนว่างงาน มาทำงานศิลปะงานหัตถกรรมฝีมือ หรือการนำของรีไซเคิลมาผลิตเป็นสินค้าชุมชน เช่น กระเป๋า พวงมาลัย ของตกแต่ง เครื่องประดับ และของใช้ต่าง ๆ นอกจากจะมีสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นของชุมชนย่านบางลำพูแล้วยังมี “ไกด์เด็กบางลำพู” ซึ่งเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมให้กับชุมชน และเด็ก ๆ ยังสามารถผลิตสื่อโซเชียลและสื่ออื่น ๆ ในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของชุมชน

 

จุดมุ่งหมายของชุมชนย่านบางลำพู กทม.ที่เข้าร่วมโครงการกับแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. 

        จุดมุ่งหมายของบางลำพู คือ อยากให้เกิดกระบวนการสร้างสรรค์กิจกรรมของชุมชนในการเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของชุมชน วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพนักสื่อสารสุขภาวะ สร้างองค์ความรู้ด้านวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมผ่านกระบวนการบริหารจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ สินค้าชุมชน จนเกิดเป็นอัตลักษณ์และแบรนด์ที่เป็นเสน่ห์ของบางลำพู สามารถต่อยอดทางวัฒนธรรมในการเป็นเศรษฐกิจชุมชนอย่างสร้างสรรค์เพื่อพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเกิดการมีส่วนร่วมและจิตสำนึกสาธารณะของคนในชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและพื้นที่แหล่งเรียนรู้ในชุมชนให้เข้มแข็ง และคืนผลตอบแทนสู่ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม

 


ข้อมูลจาก: ชมรมเกสรลำพู 

ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊คแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.: www.facebook.com/artculture4h

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้บนเว็บไซต์: www.artculture4health.com



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]