การสร้างตัวตนของแบรนด์ เพื่อความเป็นวิสาหกิจชุมชน

หมวดหมู่ สื่อศิลป์ SE - Social Enterprise , โดย : admin , 29 มกราคม 63 / อ่าน : 2,616


 

        กลยุทธ์ทางการตลาดหรือหลักการในการทำผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากสำหรับโครงการพัฒนาต้นแบบวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม (social enterprise) 4 ภูมิภาค เพราะการปฏิบัติงานครั้งนี้ไม่ได้เป็นแค่วิสาหกิจชุมชนธรรมดา แต่เป็น “วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม” โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาขีดความสามารถของคนในชุมชนให้สามารถจัดการตนเอง เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนให้มีความเข้มแข็งผ่านการบูรณาการ ฟื้นฟู และอนุรักษ์อัตลักษณ์ที่โดดเด่นจนเกิดเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์และได้ผลตอบแทนคืนสู่ชุมชนและสังคม


        เมื่อทำความรู้จักกับคำว่าแบรนด์ไปแล้วว่าไม่ใช่แค่สินค้า แต่เป็นสิ่งที่สามารถสร้างมูลค่าได้ วันนี้เราจะพาเข้าสู่กระบวนการที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งเพื่อการเป็นวิสาหกิจชุมชน นั่นก็คือ การสร้างแบรนด์ หรือ Branding เพราะเมื่อเรามีแบรนด์แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะนำไปทำอย่างไรต่อเพื่อให้แบรนด์นั้นเกิดมูลค่า ก็จะไม่สามารถสร้างความจดจำและกลายเป็นธุรกิจที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าสนใจได้ ดังนั้นเราจึงต้องสร้างความแตกต่างและโดดเด่นให้กับแบรนด์ผ่านกระบวนการสร้างแบรนด์หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “การสร้างตัวตนให้กับแบรนด์” ซึ่งการสร้างแบรนด์ที่ดีไม่ควรสร้างภาพลักษณ์ให้มีความใกล้เคียงหรือซ้ำกับแบรนด์อื่น ๆ เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้คนทั่วไปและลูกค้าเกิดความสับสน แล้วไม่สามารถจำแบรนด์ของเราได้ ตัวอย่างเช่น พื้นที่ในตำบลม่อนปิ่นที่อยู่ทางภาคเหนือ เป็นชุมชนที่มีชาติพันธุ์ถึง 4 กลุ่ม จึงเกิดเป็นภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่หลากหลาย แต่ในตำบลอื่น ๆ ก็มีชาติพันธุ์ที่หลากหลายเช่นกัน เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างความแตกต่างที่จะนำเสนอตัวตนของชาติพันธุ์ในชุมชนม่อนปิ่นให้ไม่เหมือนกับพื้นที่อื่น ๆ ในภาคเหนือ


        การสร้างแบรนด์นอกจากจะสร้างการจดจำแล้ว ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ด้านการสื่อสารให้กับชุมชน เพื่อเป็นประโยชน์ระยะยาวและสร้างความยั่งยืนให้กับสังคม ซึ่งในปัจจุบันถือว่าเป็นกระบวนการสร้างชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ ความศรัทธา และกลายเป็นทุนเชิงสัญลักษณ์กับทุนเชิงวัฒนธรรมให้ผู้บริโภคเป็นอย่างแรก โดยการสร้างแบรนด์มีเงื่อนไขสำคัญอยู่ 4 ส่วน คือ แตกต่างไม่ซ้ำใคร มีเป้าหมายชัดเจนในการสื่อสารว่าอยากให้ลูกค้ารู้จักเราแบบไหน สามารถสื่อสารได้ว่าแบรนด์ของเราทำอะไรได้ และง่ายต่อการจดจำ


        ดังนั้น เมื่อเรารู้และสร้างตัวตนให้กับแบรนด์ในชุมชนของเราได้แล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่จะนำมาพัฒนาและต่อยอดเพื่อสร้างการจดจำและเพิ่มความโดดเด่นเฉพาะให้กับอัตลักษณ์ที่มีอยู่ในชุมชนของภาคีเครือข่ายทั้ง 4 ภาค จนเกิดเป็นมูลค่า และสร้างผลตอบแทนให้กับชุมชนและสังคมได้

 

 

ข้อมูลประกอบจาก: หนังสือประชาคมบางลำพูของ อาจารย์อุทิศ อติมานะ และเว็บไซต์ Greedisgoods

สำหรับใครที่อยากติดตามต่อว่าการสร้างอัตลักษณ์ของ หรือ Brand Identity จะต้องทำอย่างไรและมีประโยชน์อย่างไรบ้างก็สามารถติดตามข่าวสารและบทความอื่น ๆ ได้ที่

Fanpage: แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. หรือ https://www.facebook.com/artculture4h/

Website: สื่อศิลป์ SE - Social Enterprise หรือ http://www.artculture4health.com/categories/view/12



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]