สร้างแบรนด์ให้น่าเชื่อถือ เพื่อความยั่งยืนของวิสาหกิจชุมชน

หมวดหมู่ สื่อศิลป์ SE - Social Enterprise , โดย : admin , 2 มีนาคม 63 / อ่าน : 1,296


        


        วิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมจะมีความยั่งยืนได้ต้องอาศัยการสร้างแบรนด์ เพราะกระบวนการสร้างแบรนด์คือการเผยแพร่ตัวตนของชุมชนอออกไปให้คนภายนอกได้รับรู้ ผ่านการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ด้วยส่วนส่งเสริมอัตลักษณ์ของแบรนด์หรือเครื่องมือที่จะทำให้แบรนด์ของเราเป็นที่น่าจดจำ แต่อีกส่วนสำคัญที่เราต้องคำนึงถึงตลอดการสร้างแบรนด์คือ จะทำอย่างไรให้แบรนด์มีความน่าเชื่อถือ และทำให้ผู้บริโภคสามารถศรัทธาในสิ่งที่เรานำเสนอเกิดความเข้าใจในตัวตนของชุมชน มีการบอกต่อและเกิดการเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น สถานที่สำคัญจากคนภายนอก วันนี้เราจะพาไปเรียนรู้กับวิธีการสร้างแบรนด์ให้น่าเชื่อถือ เพื่อให้สามารถนำไปปรับใช้ในกระบวนการสร้างแบรนด์ (Branding) และกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) ต่อไปได้

        ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ดีต้องมีนวัตกรรมก้าวหน้าและสม่ำเสมอ หมายความว่าต้องมีการพัฒนาแบรนด์ของชุมชนอยู่เสมอเพื่อให้เกิดแบรนด์ที่หลากหลายออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่การผลิตนวัตกรรมของชุมชนออกมานั้น ผู้นำองค์กรจะต้องคำนึงถึงความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายอยู่ตลอด เพื่อสร้างความน่าศรัทธาในแบรนด์ให้กับสังคม ซึ่งการที่แบรนด์ของเราจะออกมาดีได้ จะต้องมีสภาพแวดล้อมที่ดีภายในองค์กร  พนักงานหรือสมาชิกในองค์กรมีความมั่นใจในข้อดีของแบรนด์เรา รักองค์กร และภาคภูมิใจในฐานะที่เป็นสมาชิกในชุมชน นอกจากนี้ต้องมีการท้าทาย ทำการทดลองและพัฒนาแบรนด์เพื่อสร้างความแตกต่างและเป็นประโยชน์ต่อสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงให้คนภายนอกรับรู้ว่าองค์กรของเรามีการบริหารจัดการที่ดี ต่อมาเป็นส่วนสำคัญด้านการสื่อสาร ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการสร้างแบรนด์ด้วย นั่นก็คือการสื่อสารที่สะท้อนบุคลิกภาพของแบรนด์ (Brand Personality as Branding) โดยเป็นการควบคุมสื่อทุกชนิดขององค์กรให้มีข้อมูลและคุณค่า มีการสร้างบุคลิกภาพของแบรนด์ หรือเรียกว่า Mood & Tone ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ง่ายต่อการจดจำและทำซ้ำ โดยทุกองค์กรต้องมีคู่มืออัตลักษณ์ขององค์กร เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานให้กับบุคลากร ให้งานไปในทิศทางเดียวกันอย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งคู่มือดังกล่าวก็คือส่วนของการสร้างอัตลักษณ์แบรนด์ในกระบวนการสร้างแบรนด์ เช่น โลโก้ สโลแกน สี ฟ้อนต์ (font) และอื่น ๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาให้โดดเด่น ไม่ซ้ำใคร สวยงาม แปลก และน่าทึ่ง จนเกิดเป็นเอกลักษณ์และมีข้อมูลคุณค่าพื้นฐานขององค์กรที่ครบถ้วน ต่อมาเป็นการสื่อสารแบรนด์ของเราให้เกิดประสิทธิภาพ เราต้องศึกษารูปแบบของสื่อต่าง ๆ ก่อนว่าสื่อแต่ละประเภทมีความแตกต่างกันอย่างไร มีจุดดี จุดด้อยอะไรบ้าง เช่น สื่อวิดีโอ สื่อกราฟิก สื่อบทความ สื่อรูปภาพ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ออกมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำไปวิเคราะห์เพื่อให้ตรงกับสื่อโซเชียลมีเดียที่องค์กรเรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ค (Facebook) ทวิตเตอร์ (Twitter) อินสตาแกรม (Instagram) เว็บไซต์ (Website) และอื่น ๆ ว่าประเภทสื่อที่เราวางไว้จะสามารถนำเสนอผ่านช่องทางใดได้บ้าง และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงสื่อเราต้องมีระยะเวลาในการใช้งานสื่อที่เหมาะสม ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มเป้าหมายของชุมชนเราเป็นคนวัยทำงานที่รักการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เมื่อทำการวิเคราะห์ออกมาแล้วพบว่าคนวัยทำงานจะใช้โซเชียลมีเดียมากในช่วงเวลากลางวันและหลังเลิกงาน ก็สามารถนำเสนอสื่อให้ตรงกับช่วงเวลาเหล่านั้นได้ โดยที่แต่ละสื่อก็มีความเชื่อมโยงกันในเรื่องของเนื้อหา นอกจากสื่อออนไลน์แล้วยังสามารถเปิดตลาดสื่อออฟไลน์เพื่อเพิ่มการเข้าถึงให้กับกลุ่มคนที่ไม่ค่อยเล่นโซเชียลมีเดียด้วยได้ เช่น โปสเตอร์ ใบปลิว หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ของเราก็เป็นสื่อออฟไลน์ได้ เพียงเท่านี้เราก็สามารถเผยแพร่สื่อขององค์กรได้หลายช่องทาง

        ดังนั้นเมื่อแบรนด์ชุมชนของเรามีจุดยืนเรื่องสื่อที่ชัดเจน มีทิศทางในการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะสร้างการจดจำให้กับกลุ่มลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย เกิดเป็นความเชื่อถือ ติดตาม และเข้ามาศึกษาข้อมูล จนเกิดเป็นความนิยมให้กับชุมชน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจที่ดีให้กับบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชน เกิดการเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และสร้างความมั่นใจในการทำงาน จนกลายเป็นความยั่งยืนของวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคม

 

ข้อมูลประกอบจาก: หนังสือประชาคมบางลำพูของ อาจารย์อุทิศ อติมานะ

สำหรับใครที่อยากติดตามข่าวสารและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจชุมชนก็สามารถติดตามข่าวสารและบทความอื่น ๆ ได้ที่

Fanpage: แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. หรือ https://www.facebook.com/artculture4h/

Website: สื่อศิลป์ SE - Social Enterprise หรือ http://www.artculture4health.com/categories/view/12



ปฏิทินกิจกรรม























แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ
Art & Culture for Health Literacy

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ThaiHealth Promotion Founnation (THPF)

128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
128/177 Phayatai Plaza,  16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand

โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]