แวดวงดนตรี

หมวดหมู่ , 14 มิถุนายน 66

แวดวงดนตรี "ลูกทุ่ง และ เพลงลูกทุ่ง"



“ลูกทุ่ง” และ “เพลงลูกทุ่ง” นั้น หลายคนคุ้นหู ได้ฟังมาโดยตลอด แต่รู้กันหรือไม่ ว่าคำ ๆ นี้ ไม่ได้เกิดพร้อมกัน และมีที่มาอย่างไร
“เพลงลูกทุ่ง” อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างช้านาน เป็นเพลงที่สะท้อนถึงวิถีชีวิต สภาพสังคมและวัฒนธรรมของชาวชนบท เพลงลูกทุ่งนั้นกำเนิดขึ้นมาโดยได้รับอิทธิพลมาจากเพลงไทยสากล ลักษณะของเพลงลูกทุ่งจะเป็นแนวเพลงที่ใช้ภาษาง่าย ๆ ทำนอง คำร้อง รูปแบบการเอื้อน และลูกคอที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ โดยวิวัฒนาการของเพลงลูกทุ่งในช่วงปี พ.ศ.2495 - 2500 นั้น ยังเป็นช่วงที่มีการแต่งเพลงในลักษณะที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาวนา ชาวสวนและกรรมกร สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากยากแค้น โดยใช้สำเนียงการร้องแบบชาวบ้านตามท้องถิ่น ยังไม่มีแบ่งประเภทแนวเพลง



คำว่า “ลูกทุ่ง” นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกเป็นชื่อของภาพยนตร์เพลง สร้างโดยบริษัท ไทยฟิล์ม เพลงในหนังทั้งหมดเขียนทำนองโดย หม่อมหลวง พวงร้อย อภัยวงศ์ และเขียนเนื้อร้องโดย พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น) มีตั้งแต่เพลง เงาไม้, ต้อนกระบือ, เกี้ยวสาว, สายัญ และไม้งาม ซึ่งเนื้อร้องส่วนใหญ่จะเน้นชมธรรมชาติอันสวยงามของท้องไร่ปลายนา

เพลงที่เป็นแนวเพลงลูกทุ่งและถูกบันทึกไว้เป็นหลักฐานคือ เพลง “สาวชาวไร่” ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ของ ครูเหม เวชกร ใช้ร้องประกอบการแสดงละครวิทยุเรื่อง สาวชาวไร่ ในปี พ.ศ. 2481 จากหลักฐานที่ค้นพบมีเค้าลางที่น่าเชื่อว่า “เพลงสาวชาวไร่ เป็นเพลงลูกทุ่งเพลงแรกของเมืองไทย”

ในช่วงปี พ.ศ. 2498 ป.วรานนท์ นักจัดรายการวิทยุ ได้เรียกนักร้องประเภทเพลงชีวิต เช่น คำรณ สัมบุณณานนท์, พยงค์ มุกดา, สุรพล สมบัติเจริญ ว่าเป็น "นักร้องตลาด" เนื่องจากแนวเพลงและนักร้องดังกล่าวเข้าถึงผู้ฟังที่เป็นชาวบ้านทั่วไปได้ง่าย เนื้อหาเพลงมีความชัดเจน ส่วนอีกแนวหนึ่งเรียกว่า "เพลงผู้ดี" ซึ่งหมายถึง เพลงที่มีการแต่งอย่างไพเราะเพราะพริ้ง ใช้คำสละสลวย เนื้อหาส่วนใหญ่ก็มักจะเกี่ยวกับความรัก นักร้องแนวนี้ เช่น สุเทพ วงศ์กำแหง, สวลี ผกาพันธุ์ เพลงไทยสากลจึงถูกแบ่งประเภทออกเป็นเพลงลูกทุ่ง และเพลงลูกกรุง โดยมีผู้ให้ความเห็นว่า เป็นเพราะช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมเมืองและชนบท เพลงลูกกรุงจึงได้รับความนิยมในหมู่ผู้มีการศึกษาของสังคมเมือง ส่วนเพลงลูกทุ่งมุ่งรับใช้ชาวชนบท

ส่วนคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” เกิดขึ้นโดยจำนงค์ รังสิกุล หัวหน้าฝ่ายรายการสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม จัดรายการเพลงที่มีเนื้อร้องเกี่ยวข้องกับชีวิตในท้องทุ่ง โดยให้นักร้องยอดนิยมในยุคนั้นแต่งตัวแบบชาวชนบท และฉากประกอบเป็นกระท่อมปลายนา มีกองฟางจริง ๆ เป็นหลัก โดยเปลี่ยนชื่อรายการจาก “เพลินเพลงชนบท” เป็นรายการ “เพลงลูกทุ่ง” เมื่อรายการออกอากาศเป็นครั้งแรกในวันที่ 11 พฤษภาคม 2507 ปรากฏว่า ผู้ชมทางบ้านให้ความสนใจเกินความคาดหมาย และคำว่า “เพลงลูกทุ่ง” ก็ติดปากผู้คนทั้งประเทศจากวันนั้นมาจนถึงทุกวันนี้



ปัจจุบันเพลงลูกทุ่งมีการพัฒนาขึ้นมาก นอกจากการร้องเพียงอย่างเดียวแล้ว ยังมีการเต้นเพิ่มเข้ามา ถึงแม้ดนตรีของเพลงลูกทุ่งจะเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นเอกลักษณ์ของดนตรีแนวนี้ก็คือการร้องและการเอื้อนนั่นเอง เนื้อหาของเพลงยังเกี่ยวกับวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรมเช่นเดิม แต่ปัจจุบันอาจจะเปลี่ยนอกหักจากจดหมายเป็นอกหักผ่านไลน์ก็เป็นได้

ติดตามคอนเทนต์เกี่ยวกับแวดวงดนตรีได้ที่
จีรศักดิ์ จำรัส ( Music Creator )
และ Youtube ปันศิลป์ ปันสุข : https://bit.ly/3tKmMPW
ติดตามข่าวสารและกิจกรรมปันศิลป์ ปันสุข เพิ่มเติมได้ที่



โครงการปันศิลป์ ปันสุข

โดย : แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ที่ตั้งสานักงาน : 
     128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
     128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 
โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]