แวดวงดนตรี "ราชินีเพลงจีน"

หมวดหมู่ , 27 มกราคม 66

ราชินีเพลงจีน




มีคนเคยกล่าวไว้ว่า “ไม่ว่าคุณจะเจอคนจีนที่ไหน คุณอาจได้ยินเพลงของศิลปินคนนี้ “เติ้ง ลี่จวิน” และ 29 มกราคมนี้ ก็จะเป็นวันคล้ายวันเกิดของเธอ ทำไมเพลงของเธอถึงได้เป็นอมตะจนถึงปัจจุบัน ทำไมถึงได้รับการยอมรับว่าเป็นราชินีเพลงจีน แม้ว่าเธอจะจากไปถึง 27 ปีแล้วก็ตาม

หลายคนน่าจะเคยได้ฟังเพลง พระจันทร์แทนใจ, เถียนมี่มี, เหมยฮัว, Good bye my love ตามชุมชนจีนอย่างเยาวราช หรืออากง อาม่า พ่อ แม่ น่าจะต้องมีคนเปิดเพลงของเติ้ง ลี่จวิน เพลงของเธอนั้นฟังง่าย ฟังสบาย ดนตรีที่ไพเราะ และสิ่งที่พิเศษที่สุดนั่นก็คือน้ำเสียงที่หวานไพเราะของเธอ

อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน, ผู้คนกำลังยืน และ ข้อความ
เติ้งลี่จวินตอนเด็กสมัยประกวดร้องเพลง

เติ้ง ลี่จวินเกิดในปี 1953 พ่อของเธอเป็นนายทหารฝ่ายก๊กมิงตั๋งที่แพ้สงคราม จึงต้องหอบครอบครัวอพยพมาอยู่ที่ไต้หวัน เธอเริ่มเข้าวงการร้องเพลงตั้งแต่อายุ 11 ขวบ จากการประกวดร้องเพลงในรายการทีวี และร้องเพลงในค่ายทหารที่พ่อเธอทำงานอยู่ เติ้ง ลี่จวินชนะรายการประกวดมากมาย จนได้เซ็นสัญญาออกแผ่นเสียงในที่สุด และใช้เวลาแค่เพียงสิบปีก็ได้กลายเป็นราชินีเพลงจีนที่มีแฟนคลับตั้งแต่ ฮ่องกง ไต้หวัน จีนและญี่ปุ่น

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ กำลังยืน
การออกจากไต้หวันครั้งแรกของเธอ ถูกทาบทามโดยภรรยาของลีกวนยู ผู้นำสิงคโปร์ เธอถูกผลักดันให้ตระเวนร้องเพลงไปหลายประเทศ และได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงในญี่ปุ่น ด้วยความสามารถและพรสวรรค์ของเธอ เติ้ง ลี่จวินสามารถร้องเพลงได้หลายภาษาทั้งจีนกลาง กวางตุ้ง ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษ ยิ่งตอกย้ำให้เธอโด่งดัง ด้วยการทัวร์ร้องเพลงทั่วอเมริกาและแคนาดา ทำให้ยอดขายอัลบั้มของเธอพุ่งถึงจุดสูงสุดในหลายประเทศ จวบจนปัจจุบัน แผ่นเสียงอัลบั้มรวมของเธอยังขายได้ในราคาหลักแสนเลยทีเดียว

แม้จะประสบความสำเร็จมากเพียงใด สิ่งที่เติ้ง ลี่จวินต้องการมากที่สุด คือการได้กลับไปร้องเพลงบนจีนแผ่นดินใหญ่ที่เธอจากมา แต่มันก็เป็นไปได้ยาก เพราะปัญหาทางการเมืองระหว่างจีนกับไต้หวันที่ตึงเครียดกันเป็นเวลานาน ในขณะที่เพลงของเธอนั้นถูกแบนในจีน แต่คนจีนยังหาฟังเพลงของเติ้ง ลี่จวินได้อยู่ดี เธอเป็นหนึ่งคนที่กล้าชนกับการเมืองยุคคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น เธอออกมาวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์เทียนอันเหมินอย่างตรงไป ตรงมา แถมจัดคอนเสิร์ตเพื่อประกาศจุดยืนสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาที่กำลังเรียกร้องประชาธิปไตยในปักกิ่งอีกด้วย มันยิ่งส่งผลให้เธอถูกแบนในจีนมากขึ้นและไม่สามารถไปร้องเพลงในจีนได้อีกเลย

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน
https://youtu.be/2zqU51eH2sQ
เพลงพระจันทร์แทนใจ

เติ้ง ลี่จวินถูกแฟนคลับชาวจีนตั้งฉายาให้ว่า เติ้งน้อย เพราะเธอมีนามสกุลเหมือนกับ เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีน ชาวบ้านจึงพูดกันเล่น ๆ ว่า ประเทศนี้ถูก เติ้ง ยึดไปแล้ว กลางวันฟังเติ้งเสี่ยวผิง กลางคืนฟังเติ้ง ลี่จวิน แม้พรรคคอมมิวนิสต์จีนเคยร้องขอให้เธอไปแสดงคอนเสิร์ตที่จีน บัตรก็ขายหมดเกลี้ยงทุกรอบ แต่สุดท้ายคอนเสิร์ตก็ถูกยกเลิกในวินาทีสุดท้าย เติ้ง ลี่จวินเสียชีวิตด้วยโรคหอบหืดเฉียบพลันส่งผลให้หัวใจล้มเหลว ระหว่างพักผ่อนวันหยุดที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1995 งานศพของเธอถูกจัดอย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้คนระดับสูงในสมัยนั้น แม้ความขัดแย้งของจีนกับไต้หวันยังมีอยู่ แต่สิ่งที่ปฎิเสธไม่ได้นั่นก็คือบทเพลงของเติ้ง ลี่จวินที่ยังซึมซับอยู่ในหัวใจของแฟนเพลง เสียงร้องและดนตรีนั้นข้ามผ่านความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองไป มันเอาชนะความรู้สึกของคนได้ ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมทุกวันนี้เพลงของเติ้ง ลี่จวิน ยังอยู่ในทุกสังคมคนจีน มันอาจจะเป็นตัวแทนของความคิดถึงบ้านเกิดที่เติ้ง ลี่จวินปราถนาที่จะกลับไปอยู่ก็เป็นได้

ติดตามคอนเทนต์เกี่ยวกับแวดวงดนตรีได้ที่
จีรศักดิ์ จำรัส ( Music Creator )
และ Youtube ปันศิลป์ ปันสุข : https://bit.ly/3tKmMPW
ติดตามข่าวสารและกิจกรรมปันศิลป์ ปันสุข เพิ่มเติมได้ที่



โครงการปันศิลป์ ปันสุข

โดย : แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ที่ตั้งสานักงาน : 
     128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
     128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 
โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]