ครูเซียง ปรีชา การุณ | ครูหมอลำหุ่น หนังบักตื้อ เสริมกิจกรรมเด็ก สืบสานศิลปะอีสาน กับรางวัล 1 ใน 100 "ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม 3 " โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)

หมวดหมู่ , 19 มิถุนายน 66

"หลายคนมองว่าอีสานแร้นแค้น แต่ผมมองเห็นความอุดมสมบูรณ์และความร่ำรวยในศิลปวัฒนธรรม"


.
ครูเซียง ปรีชา การุณ | ครูหมอลำหุ่น หนังบักตื้อ เสริมกิจกรรมเด็ก สืบสานศิลปะอีสาน กับรางวัล 1 ใน 100 "ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม 3 " โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)
.
ความยั่งยืนในชีวิตประการหนึ่ง คือการมีอาชีพ และอาชีพที่ยั่งยืนนั้น คืออาชีพที่ไม่ทิ้งรากเหง้าของตัวเอง ดังเช่นชาวคณะหมอลำหุ่นเด็กเทวดาที่บ้านดงน้อย ตำบลพระธาตุ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม และเป็นผู้สร้างแลนมาร์คแห่งใหม่ที่เป็นจุดหมายปลายทางของทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่ต่างก็แวะเวียนเข้ามาสัมผัสศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ผสานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวอีสานอย่างลงตัว ความภาคภูมิใจของ ครูเซียง ปรีชา การุณ ผู้ก่อตั้งคณะหมอลำหุ่น จนโรงละครเล็ก ๆ แห่งนี้เต็มไปด้วยความสุขจากรอยยิ้มและความประทับใจ พร้อมต้อนรับผู้มาเยือนจากทุกสารทิศ
.
ครูเซียงเล่าว่า เด็กเทวดานั้นหมายถึงเด็กที่ปกปักรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งทำให้เด็กมีความภาคภูมิใจในตัวเอง เจตนาในการตั้งโรงละครหมอลำหุ่นแห่งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2548 จากการที่อยากเห็นเด็ก ๆ ในพื้นที่ได้ใช้เวลาว่างจากการเรียน สร้างประโยชน์จากสิ่งที่มีในบ้านตัวเอง ไม่ต้องลงทุนอะไร และนำสิ่งนั้นมาสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ตนเองและช่วยเหลือครอบครัว จึงคิดทำโรงละคร
“กว่าจะผ่านช่วงแรก ๆ มาได้ก็มีคำถามเยอะ เพราะคนอีสานแต่เดิมมองว่าสิ่งนี้เป็นงานเต้นกินรำกิน ศิลปะการแสดงละครเป็นเรื่องไร้สาระ คนเรียนหนังสือต้องจบมาเป็นครู เป็นหมอ เป็นตำรวจ เป็นเจ้าเป็นนายคน ซึ่งตนเองก็รับฟังและพยายามมาโดยตลอดเพื่อให้คนอื่นเห็นว่าศิลปะการละครไม่ได้เป็นเพียงอาชีพ แต่ยังฝึกฝนการสร้างจินตนาการ การคิดวิเคราะห์ต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องในตัวคุณ หรือแม้กระทั่งกิจวัตรประจำวันก็สามารถนำศิลปะการละครไปปรับใช้ได้”
.
ความสำเร็จของโรงละครมาจากการสนับสนุนจากทุกคน ตั้งต้นจากความอยากรู้อยากลองของเด็กจนก่อเกิดเป็นความรัก วินัย และความรับผิดชอบ เสริมด้วยแรงจากพ่อครู แม่ครู ที่ฝึกฝนบทลำกลอน ศิลปะพื้นบ้าน และยังมีแรงที่มาจากผู้รู้ในชุมชนที่มาช่วยฝึกงานจักสานและฝึกดนตรีท้องถิ่น โรงละครนี้ก่อให้เกิดความร่วมมือในบรรยากาศที่อบอุ่นอันหาไม่ได้จากโรงเรียนทั่วไป เพราะที่นี่พ่อแม่ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เลือดเนื้อเชื้อไขของตนเอง ความรัก ความผูกพันจึงเกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง เด็ก ๆ ก็พร้อมที่จะเรียนรู้พรสวรรค์ที่มีติดตัวมาโดยไม่รู้ตัว
.
สิ่งที่ครูเซียงทำในวันนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงแนวคิดของผู้ใหญ่ที่ละเลยศักยภาพของเด็ก การสร้างคุณค่าของศิลปะการแสดงที่ควรอนุรักษ์เพื่อส่งต่อสู่คนรุ่นหลัง และการสร้างนักคิด นักสร้างสรรค์ที่ไม่ยึดติดกับกรอบเดิม สร้างมูลค่าจากสิ่งที่มีใกล้ตัวจนเป็นอาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และสำคัญที่สุด คือ การสร้างการรับรู้เพื่อยกระดับการแสดงพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จากโรงละครหมอลำหุ่นที่เดียวในประเทศ สร้างพื้นที่ให้เด็กในพื้นที่ภาคอีสานได้เรียนรู้งานศิลปะและการแสดง โดยเฉพาะการทำฮูบแต้ม (ภาพวาด) หนังบักตื้อ หรือหนังตะลุงอีสาน ที่มีพ่อครู แม่ครูเป็นกำลังสำคัญ ทำให้คนในชุมชนเห็นคุณค่าของงานศิลปะและสืบสานจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งพัฒนาให้กลายเป็นศิลปะที่ร่วมสมัย
“ตอนนี้ได้ขยายพื้นที่ไปยังชุมชนใกล้เคียง พร้อมกับจัดเทศกาลศิลปะจากวัสดุเหลือใช้ เช่น เทศกาลหุ่นฟางยักษ์ หลังฤดูเก็บเกี่ยว เราทำเป็นเจ้าแรก เราต้นแบบเทศกาลก็ว่าได้ เรายังเดินสายนำศิลปะจักสานชุมชนไปสู่สายตาคนทั่วประเทศ”
.
ครูเซียงนำงานศิลปะมาหลอมรวมกับเด็ก ๆ เพื่อพาผู้คนก้าวข้ามจากสิ่งที่เคยถูกมองว่าไร้สาระไปสู่ศิลปวัฒนธรรมที่เติบโตจากแนวคิดใหม่จากการนำศิลปะ ดนตรี อาชีพ และวัสดุท้องถิ่น มาผสมผสานจนเกิดเป็นอาชีพที่มั่นคง โดยเฉพาะการมุ่งไปที่เยาวชน ผู้สืบสานศิลปะผ่านกลยุทธ์ความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน ครูเซียงเห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะนำมาซึ่งความยั่งยืน และขยายสู่ภาคการท่องเที่ยวเพื่อให้ผู้คนรู้จักโดยทั่วไปได้
.
ปัจจุบันงานของครูเซียงและคณะหมอลำหุ่นเด็กเทวดา แสดงให้เห็นว่าศิลปะที่ผสมผสานความร่ำรวยทางศิลปวัฒนธรรมของอีสาน และความรักของคนในครอบครัว ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเยาวชนให้พึ่งพาตนเองได้ งอกงามบนรากเหง้าวัฒนธรรม ก่อเกิดเป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืน



โครงการปันศิลป์ ปันสุข

โดย : แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส)
ที่ตั้งสานักงาน : 
     128/177 ชั้น 16 อาคารพญาไทพลาซ่า ถนนพญาไท แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
     128/177 Phayatai Plaza, 16th Fl., Phayathai Rd., Rajthevee, Bangkok 10400 Thailand
โทรศัพท์ : 02-129-3897-8 
โทรสาร : 02-129-3899
อีเมล : [email protected]